ปาน
"ปานแต่กำเนิด" คือ ความผิดปกติของสีผิว และ/หรือความผิดปกติของความเรียบเนียนของผิว ซึ่งพบในทารกแรกเกิด หรือในช่วงอายุขวบปีแรก ปานมีหลายชนิด และเกิดจากความผิดปกติของเซลล์ที่แตกต่างกันไป เช่น เซลล์ผิวหนัง หลอดเลือด ทางเดินน้ำเหลือง และกล้ามเนื้อ
ปานโอตะ (Nevus of Ota)
เป็นปานแต่กำเนิดชนิดที่พบบ่อยในชาวเอเชีย เช่น จีน เกาหลี ไทย มีลักษณะเป็นจุดสีน้ำตาลเข้ม สีเขียว สีฟ้าเทา หรือสีน้ำเงิน ที่ขยายขนาดขึ้นตามอายุ ส่วนใหญ่เป็นข้างเดียว (90%) ที่แก้ม หน้าผาก รอบตา ผู้ป่วยบางรายอาจมีปานโอตะเกิดขึ้นในบริเวณตาขาวด้วย ประมาณร้อยละ 10 ของผู้ป่วย จะตรวจพบความผิดปกติของความดันลูกตาข้างเดียวกับที่มีปานอยู่ ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาที่ทันเวลา จะพัฒนาไปเป็นโรคต้อหิน และทำให้ตาบอดได้ ปานโอตะที่ผิวหนังตอบสนองต่อการรักษาด้วยเลเซอร์ดีมาก
การรักษาด้วยเลเซอร์ระบบ QS (Ruby 694[1-7], Alexandrite 755[8, 9], Nd-YAG 1064) ได้ผลดีมาก โดยเฉลี่ยต้องทำการรักษาประมาน 5-10 ครั้ง ห่างกัน 6-12 สัปดาห์ รอยโรคสามารถจางหายไปได้หมดหลังการรักษาหลายครั้งติดต่อกัน การเริ่มรักษาตั้งแต่อายุยังน้อยจะได้ผลการรักษาต่อครั้งดีกว่า จำนวนครั้งของการรักษาน้อยกว่า เพราะรอยโรคชนิดนี้จะขยายขนาดตามอายุ
ปานสีกาแฟใส่นม (Café au lait)
มักเป็นตั้งแต่แรกเกิด มีลักษณะเป็นปื้นสีน้ำตาลอ่อนถึงสีน้ำตาลออกสีกาแฟ มักมีรูปร่างกลมหรือรี ขอบเขตค่อนข้างชัดเจน จะขยายขนาดขึ้นตามการเจริญเติบโต และจะคงอยู่ตลอดชีวิต มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่เป็นมิลลิเมตรจนถึง 20 เซนติเมตร ส่วนใหญ่จะไม่พบความผิดปกติอื่นๆ ของร่างกายร่วมด้วย แต่หากผู้ป่วยที่มีปานชนิดนี้จำนวนมากหรือมีขนาดใหญ่ อาจพบว่ามีโรคพันธุกรรมบางชนิดได้ ดังนั้นหากพบปานขนาดใหญ่หรือมีหลายอัน ควรพาบุตรหลานของท่านไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม สามารถรักษาด้วยเลเซอร์ระบบ QS หรือ เลเซอร์ Er:YAG
ปานมองโกเลียน (Mongolian)
พบบ่อยที่สุด มีลักษณะเป็นผื่นราบสีเขียว ฟ้าเทา หรือน้ำเงินเข้ม บริเวณก้นและสะโพก แต่อาจพบที่บริเวณอื่นๆ ของร่างกายได้ เช่น แขน ขา หลัง ไหล่ ปานชนิดนี้จะค่อยๆ จางหายไปเมื่ออายุ 4 ปี ไม่มีความจำเป็นต้องทำการรักษา ในกรณีที่ไม่จางสามารถใช้เลเซอร์ระบบ QS รักษาได้
ปานแดงชนิด (Port-wine stains)
มักเป็นตั้งแต่แรกเกิด และไม่จางหายไป มีลักษณะเป็นปื้นแดง รอยโรคจะขยายขนาดตามตัวของผู้ป่วย ส่วนใหญ่มักอยู่ซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย ในเด็กเล็กจะมีสีอ่อน ไม่นูนหนา หากไม่ได้รักษาปานจะสีเข้มขึ้น รวมทั้งอาจนูนหนาและขรุขระเพิ่มขึ้น ตามอายุที่มากขึ้น หากพบปานชนิดนี้บริเวณใบหน้า โดยเฉพาะรอบดวงตา อาจพบร่วมกับความผิดปกติของดวงตาและสมองได้ จึงควรพาบุตรหลานของท่านไปพบแพทย์ เพื่อการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดต่อไป ปานแดงชนิดนี้สามารถรักษาโดยใช้เลเซอร์ได้ ซึ่งการตอบสนองต่อการรักษาขึ้นอยู่กับตำแหน่งและขนาดของรอยโรค การเริ่มการรักษาด้วยเลเซอร์ในเด็กจะได้ผลการรักษาดีกว่าในผู้ใหญ่ และใช้จำนวนครั้งในการรักษาน้อยกว่า แนะนำให้เริ่มรับการรักษาเร็วที่สุด
โดย : พญ.ณภากุล โรจนสุภัค ปริญญาโทสาขาตจวิทยา.,
Fellowship Training in Cutaneous and Laser Surgery, Institute of Dermatology, Thailand