top of page

ฝ้า (Melasma)

รักษาฝ้า

คือ ปื้นสีน้ำตาล มักเกิดขึ้นบริเวณที่ถูกแสงแดด โดยเฉพาะแก้ม จมูก หน้าผาก คาง  มักเป็นเหมือนกันทั้ง 2 ข้างของใบหน้า ฝ้าจะค่อยๆ เกิดขึ้นทีละน้อย มักพบในช่วงอายุ 30-40 ปี ซึ่งพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

ปัจจัยที่ทำให้เกิดฝ้า

  • แสงแดด  เชื่อว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการกระตุ้นให้เกิดฝ้า และทำให้เป็นมากขึ้น รวมถึง visible light ก็ทำให้เกิดฝ้าได้

  • ฮอร์โมน มักพบฝ้าได้บ่อยในหญิงตั้งครรภ์ หรือรับประทานยาคุมกำเนิด จึงเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนเพศเป็นสาเหตุของการเกิดฝ้า แต่ยังไม่มีหลักฐานชัดเจน

  • ยา พบว่าผู้ป่วยที่รับประทานยากันชัก มีปื้นดำคล้ายฝ้าขึ้นที่บริเวณใบหน้า จึงเชื่อว่ายานี้น่าจะมีความเกี่ยวข้องในการเกิดฝ้า

  • เครื่องสำอาง  การแพ้ส่วนผสมในเครื่องสำอาง  อาจทำให้เกิดรอยดำแบบฝ้าได้  สารผสมเหล่านี้อาจเป็นพวกสารให้กลิ่นหอมหรือสี

  • พันธุกรรม อาจมีส่วนเกี่ยวข้องในการเกิดฝ้า เนื่องจากพบฝ้าได้บ่อยในคนเอเชียมากกว่าคนผิวขาว แต่ก็ยังไม่แน่ชัด

  • โรค หรือ ความผิดปกติของร่างกาย เช่น ภาวะการทำงานของต่อมไทรอยด์ผิดปกติ ภาวะผิดปกติของต่อมไร้ท่อบางชนิด เช่น Addison disease เป็นต้น

 

การรักษาฝ้าเบื้องต้นด้วยตนเอง คือ หาสาเหตุและแก้ไข หรือ หลีกเลี่ยง 

  • ถ้าฝ้าเกิดจากการรับประทานยาคุมกำเนิด ให้เปลี่ยนวิธีคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น 

  • หลีกเลี่ยงแสงแดด และทาครีมกันแดดที่มีประสิทธิภาพป้องกันรังสี UVA, UVB และ Visible light และ ควรใช้ร่มให้เป็นนิสัย

  • งดใช้เครื่องสำอางที่ทำให้เกิดการแพ้

  • แก้ไขภาวะผิดปกติทางร่างกาย

 

การรักษาฝ้า หรือ ทำให้ฝ้าจางลง

  • วิธีที่ดีที่สุด คือ การใช้ยาทา ซึ่งยาทาฝ้ามีหลายประเภท เช่น ไฮโดรควิโนน กรดวิตามินเอ ยาทาคอร์ติโคสเตียรอยด์ เป็นต้น ยาทาเหล่านี้มีทั้งผลดีและผลข้างเคียง  การเลือกใช้ยาให้เกิดผลดีโดยไม่เกิดผลข้างเคียงหรือเกิดน้อยที่สุดควรปรึกษาแพทย์ ไม่ซื้อยาทาเอง เพราะถ้าเกิดผลข้างเคียงจากยา อาจทำให้ผิวหน้าดูแย่กว่าเดิม

  • ปัจจุบันมีการใช้ยารับประทานร่วมกับยาทา แต่ยังไม่มีการวิจัยที่ชัดเจนว่าได้ผลมากน้อยเพียงใด

  • การลอกหน้าด้วยสารเคมี ต้องอาศัยความชำนาญและระวังอย่างมาก แนะนำว่าควรทำโดยแพทย์

  • การรักษาด้วยเลเซอร์ เป็นการใช้เลเซอร์ที่ผสมผสานระหว่าง Q-Switched ND:YAG ร่วมกับ Short Pulsed ND:YAG จากประเทศอิตาลี ซึ่งแพทย์ผิวหนังมากกว่า 80 ประเทศทั่วโลกนิยมใช้  โดยการทำลายเม็ดสี พร้อมกับกระตุ้นคอลลาเจนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ทำให้เกิดแผล จึงไม่มีระยะพักฟื้น หลังทำการรักษาสามารถแต่งหน้าได้เลย ไม่เจ็บและเห็นผลไว

  • วิธีไอออนโตฟอเรซิส ผลการรักษายังไม่แน่นอน ยังต้องอาศัยการศึกษาติดตามผล

ประสิทธิภาพการรักษาฝ้า  ขึ้นอยู่กับสาเหตุและชนิดของฝ้า  เช่น  ฝ้าที่เกิดจากการรับประทานยาคุมกำเนิด หรือเกิดระหว่างตั้งครรภ์ ถ้าหยุดยาหรือหลังคลอด  ฝ้าจะค่อยๆ จางหายไป แต่ผู้ป่วยบางรายอาจหายไม่หมด  เนื่องจากอาจมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เกิดฝ้าร่วมด้วย เช่น แสงแดด เป็นต้น  นอกจากนี้ ฝ้าชนิดที่เป็นตื้นจะหายเร็วและตอบสนองต่อการรักษาดีกว่าฝ้าชนิดลึก  เมื่อรักษาฝ้าจนผิวหน้าดีขึ้น ควรหลีกเลี่ยงสิ่งที่กระตุ้นฝ้า โดยเฉพาะแสงแดด และใช้ครีมกันแดดที่มีประสิทธิภาพอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นฝ้าอีก

โดย : พญ.ณภากุล โรจนสุภัค ปริญญาโทสาขาตจวิทยา.,

Fellowship training in Cutaneous and Laser Surgery, Institute of Dermatology, Thailand

before-after4-1.jpg
line
facebook
phone
bottom of page