top of page

ไมเกรน (Migraine)

รักษาไมเกรน

เป็นโรคที่ก่อให้เกิดอาการปวดศีรษะเรื้อรังชนิดหนึ่ง มีลักษณะเฉพาะตัวที่สำคัญ คือ อาการปวดศีรษะ  โดยมักปวดข้างเดียว หรือ เริ่มปวดข้างเดียวก่อนแล้วจึงปวดทั้ง 2 ข้าง แต่ละครั้งที่ปวดมักจะย้ายข้างไปมาหรือย้ายตำแหน่งได้ บางครั้งอาจปวดทั้ง 2 ข้างขึ้นมาพร้อมๆ กันตั้งแต่แรก  ผู้ป่วยโรคไมเกรนส่วนใหญ่เป็นผู้ที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ ผู้หญิงจะเป็นมากกว่าผู้ชาย และมักเป็นในผู้ที่มีความเครียดทางอารมณ์และจิตใจสูง

 

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคไมเกรน

ปัจจุบันยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด อาจเกิดจากความผิดปกติที่ระดับสารเคมีในสมอง การสื่อกระแสในสมอง หรือการทำงานที่ผิดปกติไปของหลอดเลือดสมองก็ได้ จากหลักฐานข้อมูลทางระบาดวิทยาเชื่อว่า ไมเกรนสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ แต่จะเกิดอาการหรือไม่ขึ้นกับปัจจัยทั้งภายในและภายนอกร่างกายที่มากระทบตัวผู้ป่วย

 

ลักษณะอาการปวดหัวไมเกรน

  • มักปวดตุบๆ เป็นระยะๆ แต่มีบางคราวที่ปวดแบบตื้อๆ

  • ส่วนมากจะปวดรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก โดยจะค่อยๆ ปวดมากขึ้นทีละน้อยจนกระทั่งปวดรุนแรงเต็มที่แล้วค่อยๆ บรรเทาอาการปวดลงจนหาย  

  • ขณะที่ปวดศีรษะมักมีอาการคลื่นไส้ หรืออาเจียนร่วมด้วย

  • ระยะเวลาปวดอาจนานหลายชั่วโมง ส่วนใหญ่ไม่เกิน 1 วัน ในบางรายอาจมีอาการเตือนนำมาก่อน เช่น สายตาพร่ามัว หรือมองเห็นแสงกระพริบๆ อาการปวดนั้นไม่เลือกเวลา บางรายอาจปวดกลางดึก หรือปวดตั้งแต่ตื่นนอน บางรายปวดตั้งแต่ก่อนเข้านอนจนกระทั่งตื่นนอนก็ยังไม่หาย

 

ปวดศีรษะไมเกรนกับปวดศีรษะจากสาเหตุอื่นแตกต่างกันอย่างไร?

อาการปวดศีรษะธรรมดามักจะปวดทั่วทั้งศีรษะ ส่วนใหญ่ปวดตื้อๆ ไม่รุนแรง และมักไม่มีอาการอื่น เช่น คลื่นไส้ร่วมด้วย ส่วนใหญ่จะหายได้เองเมื่อได้นอนหลับสนิทไปพักใหญ่ อาการปวดศีรษะอาจเกิดจากความผิดปกติของส่วนต่างๆ ภายในกะโหลกศีรษะ เช่น สมอง เยื่อหุ้มสมอง โพรงน้ำในสมอง หลอดเลือดสมอง หรือเกิดจากความผิดปกติของกะโหลกศีรษะเอง รวมทั้งอวัยวะต่างๆ รอบกะโหลก ได้แก่ ตา หู จมูก โพรงอากาศหรือไซนัส คอ และกระดูกคอ นอกจากนั้น อาการปวดศีรษะอาจจะเกิดจากโรคหรือภาวะต่างๆ ที่เกิดแก่ร่างกาย แล้วส่งผลให้เกิดอาการปวดศีรษะขึ้น เช่น ไข้หวัดใหญ่

การจะทราบว่าอาการปวดศีรษะนั้นเกิดจากโรคไมเกรนหรือไม่ แพทย์ต้องทำการวินิจฉัยจากลักษณะจำเพาะของอาการปวดศีรษะ อาการที่เกิดร่วมด้วย รวมถึงความผิดปกติของการทำงานของสมอง หรืออวัยวะต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดอาการปวด ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีอาการปวดศีรษะเรื้อรังควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัด

 

การวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคไมเกรน

  1. ลักษณะของอาการปวด เช่น ตำแหน่ง ความรุนแรง ลักษณะ การดำเนินของการปวด

  2. อาการที่เกิดร่วมด้วย เช่น ไข้ ตาแดง ตาโปน น้ำมูกมีกลิ่นเหม็น คลื่นไส้ เวียนหัว

  3. ความผิดปกติของการทำงานของสมองหรืออวัยวะต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดอาการปวด เช่น ความคิดอ่านเชื่องช้า มองเห็นภาพซ้อน แขนขาอ่อนแรง เดินเซ

  4. ปัจจัยกระตุ้นอาการปวด เช่น ความเครียด แสงจ้าๆ อาหารบางชนิด อดอาหาร นอนหลับไม่เพียงพอ

  5. ปัจจัยทุเลาอาการปวด เช่น การนอนหลับ การนวดหนังศีรษะ ยา

  6. แพทย์อาจต้องส่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อให้การวินิจฉัยแยกโรคที่อาจมีอาการคล้ายคลึงกับโรคไมเกรน

 

การรักษาโรคไมเกรน

  1. โดยการนวด กดจุด ประคบเย็น ประคบร้อน หรือ การนอนหลับ  ในรายที่ไม่ได้ผลหรืออาการปวดรุนแรง จำเป็นต้องใช้ยาแก้ปวด

  2. โดยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การกำจัดความเครียดอย่างเหมาะสม รวมถึงการรับประทานยาป้องกันไมเกรน โดยแพทย์จะแนะนำให้รับประทานยาป้องกันเมื่อมีอาการ

ที่มา : โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์

line
facebook
phone
bottom of page